ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ระบุว่า ขนาดตลาดที่อยู่อาศัยมือสองไม่มีการรวบรวมไว้อย่างชัดเจน ใช้วิธีประเมินจากการคาดการณ์สถิติโครงการใหม่มีบ้านและคอนโดมิเนียมพร้อมขายตกปีละ 1.5 แสนหน่วยทั่วประเทศ มีการโอนกรรมสิทธิ์ปีละ 1.2 แสนหน่วย ซึ่งหมายถึงแต่ละปี
เมื่อโอนไปแล้วจะกลายเป็นตลาดมือสองโดยอัตโนมัติ ถือเป็นพอร์ชั่นขนาดใหญ่ ทำให้เป็นจุดที่คนเห็นโอกาสและเข้าสู่อาชีพการเป็นนายหน้าตัวแทนขาย
“ในเชิงนโยบายถือเป็นการทำเพื่อชาติ เราพยายามผลักดันกฎหมายนายหน้าเพื่อควบคุมไลเซนส์ในประเทศไทย ไปดูงานประเทศกลุ่มภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งมีใบอนุญาตหมดแล้วทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ฯลฯ พม่ากำลังจะมี แต่ประเทศไทยยังไม่มี ผมมองว่าเป็นเรื่องประหลาดเพราะขนาดธุรกิจอสังหาฯไทยใหญ่กว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ”
ผลกระทบจากการไม่มีกฎหมายโบรกเกอร์บังคับใช้ มองว่าทำให้ไทยเสียโอกาส 2 เรื่อง
1.ถ้ามีกฎหมายควบคุมเท่ากับสร้างประโยชน์คนไทยในการเป็นโบรกเกอร์ที่ดีและถูกต้อง เพราะที่ผ่านมามีนายหน้าตัวแทนอิสระนิสัยไม่ดีเยอะ ทำให้วงการโบรกเกอร์เสียชื่อเสียง เทียบกับเมืองนอกเป็นงานมีเกียรติเพราะช่วยให้คนมีบ้าน
2.รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีจากนายหน้าอิสระได้ ถ้ามีไลเซนส์จะทำให้เข้าระบบภาษี และคาดว่ารัฐมีรายได้ภาษีหลักพันล้านบาทต่อปี
“มองในภาพใหญ่ เราไม่มีการควบคุมโดยกฎหมาย กลายเป็นช่องทางของการฟอกเงินของต่างชาติ เป็นจุดหนึ่งที่นิยมใช้โบรกเกอร์ชาติเดียวกันเข้ามาฟอกเงินโดยไม่ต้องรีพอร์ตรัฐเพราะรัฐไม่รู้ แต่ถ้ามีใบอนุญาตต้องรายงานทุกอย่าง สามารถตรวจสอบได้หมด เพราะฉะนั้น การไม่มีกฎหมายควบคุมทำให้วงการบ้านมือสองไม่พัฒนา เปิดโอกาสให้มีช่องทางโกงผู้บริโภค ที่สำคัญการมีกฎหมายควบคุมจะทำให้คนไทยไม่ถูกนายหน้าต่างชาติมาแย่งรายได้อีกด้วย”
ล่าสุด รัฐบาล คสช.เคยมีการหยิบยกกฎหมายนายหน้าตัวแทนขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ในการออกบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีรัฐบาลเลือกตั้งในชุดปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ถูกลดทอนความสำคัญและไม่ได้มีความคืบหน้าใด ๆ โดยต้นเรื่องอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง