ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ยังคงน่าสนใจ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังคงมีข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของการปรับการใช้ประโยชน์บนที่ดิน หรือการปรับผังสีนั่นเอง ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับผังสี คือ เส้นทางรถไฟฟ้า
พื้นที่ที่ได้รับการปรับผังสีที่น่าติดตาม คือ พื้นที่ที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีแดง และสีเหลือง หรือพื้นที่รอบๆ ห้าแยกลาดพร้าว สี่แยกรัชโยธิน ซึ่งในผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 มีการปรับสีผังเมืองจากสีส้มมาเป็นสีน้ำตาล และปรับ FAR จาก 5 เท่ามาเป็น 7 เท่า สามารถพัฒนาอาคารได้มากขึ้นทันที คงได้เห็นที่ดินหลายๆ แปลงเกิดการพัฒนาและซื้อขายเปลี่ยนมือมากขึ้นในอนาคต
อีกพื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่ที่มีบริษัทใหญ่เข้าไปซื้อที่ดินรอการพัฒนาอยู่หลายปีแล้ว เพียงแค่รอเวลาที่ผังเมืองกรุงเทพมหานครมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์และมีศักยภาพสูงขึ้นพื้นที่ที่ว่าครอบคลุมถนนรามอินทรา ประดิษฐ์มนูธรรม นวมินทร์ เสรีไทย รามคำแหง และลาดพร้าว ซึ่งเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีส้มปรับ FAR จาก 3 เป็น 3.5 เท่า
แม้ว่า FAR จะปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ก็ช่วยให้พื้นที่นี้น่าสนใจขึ้น อีกทั้งยังมีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านพื้นที่นี้หลายเส้นทาง เช่น สายสีชมพู สายสีส้ม สายสีเหลืองซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีอีก 2 เส้นทางที่อยู่ในแผนการพัฒนาในอนาคต คือสายสีน้ำตาล และสายสีเทา คาดว่าพื้นที่บริเวณนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในอนาคต เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม
พื้นที่ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ว่าจะมีการปรับศักยภาพให้สูงขึ้น คือ พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าที่เป็นสถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้า 2 เส้นทางขึ้นไป พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้ามีนบุรีจึงเป็นอีก 1 พื้นที่ที่ได้รับการปรับศักยภาพ สถานีรถไฟฟ้ามีนบุรีเป็นสถานีปลายทางร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีส้ม แม้ว่าอาจจะไม่ใช่สถานีเดียวกันแต่อาจจะเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กัน แต่มีความเหมาะสมในการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่รอบๆ สถานีให้สูงขึ้นได้
โดยในผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับรับปรุงที่ 4 มีการปรับเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่รอบๆ สถานีมีนบุรี โดยปรับจากพื้นที่สีส้มเป็นสีแดงหรือพื้นที่พาณิชยกรรม และเพิ่ม FAR จาก 4.5 เท่าเป็น 7 เท่าเลย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดงหรือพาณิชยกรรมในผังเมือง แต่ตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร มีแต่โครงการคอนโดมิเนียมเข้าไปเปิดขายคงต้องรอไปอีกสักระยะ
ผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ยังมีการปรับ FAR ในบางพื้นที่ให้เพิ่มขึ้น และมีการขยายขอบเขตของกาใช้ประโยชน์ให้กว้างขึ้นจากเดิม เช่น พื้นที่รอบๆ สี่แยกของถนนศรีนครินทร์และบางนา-ตราด จากเดิมที่เป็นพื้นที่สีแดงหรือพาณิชยกรรมอยู่แล้ว แต่มี FAR 5 เท่า มีการปรับ FAR เป็น 7 เท่าและขยายพื้นที่ออกให้มากขึ้นอีก เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักในพื้นที่
อีก 1 พื้นที่ที่คอนเฟิร์มว่ามีศักยภาพสูงขึ้นแน่นอน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงและโครงการพาณิชยกรรมพัฒนาใหม่ขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้ว FAR ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 7 และ 8 เท่า และเป็นพื้นที่ที่ตามผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปีพ.ศ.2556 เป็นพื้นที่สีน้ำตาลหรือที่ดินที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก แต่ในผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 มีการปรับสีผังเมืองและการใช้ประโยชน์เป็นสีแดงหรือเพื่อพาณิชยกรรม FAR มีการปรับเป็น 8 เท่าทั้งหมดเท่ากันทั้งโซน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา และเป็นพื้นที่ที่ต่อเนื่องจากศูนย์คมนาคมมักกะสัน ถนนสุขุมวิท และรองรับการขยายตัวของภาคพาณิชยกรรมจากพื้นที่ CBD ปัจจุบัน
PropertyDNA