ราคาที่ดินเปล่าทำเลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้าที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ ราคาพุ่งแรง สายสีเขียวส่วนต่อขยาย (คูคต-ลำลูกกา) เพิ่มถึง 61.3% จากปีก่อนหน้า
แม้ว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ในภาวะขาลง หลังจากเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) แต่ต้นทุนหลักในการพัฒนาโครงการอย่างราคาที่ดินนั้นกลับไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะราคาที่ดินในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งทำเลใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังก่อสร้าง เตรียมเปิดให้บริการในอนาคต ซึ่งมีราคาสูงต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เนื่องจากผู้ประกอบการไม่กล้าสู้ราคา ยิ่งในสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบจำเป็นต้องลดต้นทุน รักษากระแสเงินสด (Cash Flow) ไว้ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะเป็นทำเลรถไฟฟ้าที่มีดีมานด์ความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ราคาที่ดินเปล่ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพิ่มขึ้น 27.7%
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อจัดทำดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเป็นรายไตรมาส ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2563 พบว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา มีค่าเท่ากับ 293.3 จุด เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 27.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
โดยทำเลที่มีราคาเพิ่มมาก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลายสายรถไฟฟ้าที่เป็นส่วนต่อขยาย หรือสายรถไฟฟ้าที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้
5 ทำเลรถไฟฟ้าราคาที่ดินพุ่งแรง สูงสุด 61.3%
สำหรับที่ดินที่มีแนวเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่านและมีราคาที่ดินเพิ่มสูงสุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
1. ที่ดินทำเลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (คูคต-ลำลูกกา) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 61.3% เป็นทำเลที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินมากที่สุดต่อเนื่องมา 4 ไตรมาสแล้ว
2. ที่ดินทำเลรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 45.1%
3. ที่ดินทำเลรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 20%
4. ที่ดินทำเลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 15.3%
5. ที่ดินทำเลรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (สมุทรปราการ-บางปู) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต และสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่งก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากัน 11.7%
ชะลอสายสีเขียว คูคต-ลำลูกกา เชื่อมปทุมธานี-กรุงเทพฯ
แม้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะทบทวนและชะลอโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ส่วนต่อขยาย (คูคต-ลำลูกกา) ออกไปก่อน เพราะต้องการดูปริมาณผู้โดยสารว่ามีทิศทางเป็นอย่างไรและจะเหมาะสมในการต่อขยายเส้นทางออกไปหรือไม่ หรือทยอยขยายในเส้นทางที่มีคนเยอะก่อน โดยพิจารณาและเก็บข้อมูลสถิติจาการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)
คืบหน้าช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดเพิ่ม 4 สถานี มิ.ย.นี้
ปัจจุบันความคืบหน้าของงานติดตั้งระบบเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) อยู่ที่ 70% โดยส่วนต่อขยายจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จำนวน 4 สถานี คือ กรมป่าไม้ บางบัง กรมทหารราบที่ 11 และวัดพระศรีมหาธาตุ ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร ขณะนี้แล้วเสร็จแล้วประมาณ 80%
โดยตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ได้นำขบวนรถเข้าทดสอบ ผลการทดสอบเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการประชาชนในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 และเปิดตลอดสายถึงคูคตปลายปี 2563
หลังจากที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ต่อเนื่องจากสถานีลาดพร้าว-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 100,262 คน คาดว่าเมื่อขยายเส้นทางให้บริการถึงวัดพระศรีมหาธาตุจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คนต่อวัน เนื่องจากมีทั้งสถานที่ราชการ สำนักงานเขต หน่วยงานทหาร สถานศึกษา ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางและลดปัญหาการจราจร
ทั้งนี้ การขยายตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะล้อไปกับการโครงข่ายระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะรถไฟฟ้าซึ่งมีความสำคัญ เป็นจุดขายกระตุ้นการตัดสินใจของผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัย รวมทั้งผู้ประกอบการที่ต้องรีบตัดสินใจ เนื่องจากราคาที่ดินมีการปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงต้นทุนในการพัฒนาโครงการและราคาขายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง